บทที่6


โรงเรียนที่ 9 การจัดแผนการฝึกไม่ได้จัดเป็นแผนอย่างที่โรงเรียนต่างๆทำกันอยู่ในปัจจุบัน แผนการฝึกจะใช้แนวในเรื่องของการนั่งบรรเลง (Concert Band) แผนการฝึกจะเป็นแบบเฉพาะเรื่อง จะสอนในเรื่องเทคนิคการปฏิบัติเครื่อง ด้วยเทคนิคปฏิบัติเบื้องต้นเริ่มตั้งแต่ฝึกลม การจรดปาก เรื่อยไปจนถึงเรื่องเทคนิคปฏิบัติชั้นสูง สิ่งที่เน้นคือการฝึกบันไดเสียง การฝึกเพลงจะต้องศึกษาประวัติของเพลงอย่างจริงจังต้องมีความเข้าใจในจุดมุ่ง หมายผู้แต่งโดยละเอียด แนวเพลงที่ฝึกเป็นเพลงแนวใดก็ต้องศึกษาแนวเพลงนั้นๆให้เด่นชัดและมีความเข้า ใจ เช่น Classic, Popular, Jazz, Rock เป็นต้น
นักเรียนจะได้รับการสนับสนุนให้สอบมาตรฐานทางดนตรีเป็นประจำทุกปี ซึ่งจะสอบในราวเดือนพฤศจิกายน ดังนั้นในช่วงก่อนเดือนพฤศจิกายน หลังจากที่ซ้อมปกติแล้วนักเรียนจะฝึกซ้อมต่อเพื่อสอบ สิ่งต่างๆเหล่านี้นักเรียนจะต้องเตรียมพร้อมตัวเอง ครูผู้สอนเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือหรือให้การสนับสนุนเท่านั้น การพัฒนาความสามารถอยู่ที่ตัวนักเรียนเอง
การกำหนดตารางฝึก วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ระหว่างเวลา 16.00 น - 19.00 น.
วันจันทร์ - วันศุกร์ รวมวง 3 วัน ซ้อม Part 2 วัน หรือรวมวง 2 วัน ซ้อม Part 3 วัน โดยไม่กำหนดตายตัว แต่กำหนดว่าในแต่ละช่วงจะเรียนรู้ในเรื่องอะไรเท่านั้น
เริ่มต้นการซ้อมจะเข้ามารวมในห้องดนตรีก่อนทุกครั้งเพื่อตรวจความพร้อม สั่งการกำหนดเนื้อหา เพื่อแยกไปซ้อม Part นัดหมายการรวมวง ถ้าเพลงมีความยาวจะเพิ่มเวลาให้มากขึ้นตามความเหมาะสม
การแบ่งหน้าที่ภายในวง แบ่งให้มีหัวหน้า Part หัวหน้า section ซึ่งหัวหน้าทั้ง 2 กลุ่มจะมีหน้าที่ในการซ้อมบทเพลงให้เกิดความคล่องแคล่วก่อนมาพบครูผู้สอน เพื่อสอบความพร้อมครั้งสุด
ท้าย แก้ไขข้อบกพร่อง และจุดเน้นต่างๆ เช่น ความสมดุลของเสียง การแบ่งวรรคตอน หรือจุดเน้นต่างๆ เป็นต้น
การจะกำหนดตายตัวเป็นปฏิทินงานไม่สามารถทำได้ดังที่นำเสนอมาแล้ว การสอนต้องเลื่อนไหลตามเหตุการณ์ การกำหนดช่วงระยะเวลาในการฝึกซ้อมเป็นเกณฑ์ตายตัวนั้นไม่สามารถทำได้ และอีกอย่างนักเรียนจะเกิดเบื่อหน่ายถ้าทำอะไรที่ซ้ำซาก จำเจ
การเข้าค่ายเพื่อติวเข้ม เรื่องนี้ทางโรงเรียนเน้นมากเพราะเห็นความสำคัญว่าการเข้าค่ายฝึกซ้อมจะมี เวลามากเพียงพอกับการฝึกซ้อม นักเรียนจะได้รับความรู้มากกว่าวันธรรมดาเพราะมีช่วงระยะเวลามากกว่า สามารถกำหนดตารางการฝึกซ้อมได้ค่อนข้างเด่นชัดในการปฏิบัติ ระยะเวลาที่เข้าค่ายจะเข้าปีละ 2 ครั้ง คือ เดือนตุลาคม และเดือนเมษายน การฝึกรวมทั้งนักเรียนใหม่และนักเรียนเก่า นักเรียนใหม่ที่ได้รับการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องประมาณ 6 เดือน จะใช้งานได้ในพิธีการต่างๆที่ไม่มีขั้นตอนมากนัก และงานที่ใช้เพลงง่ายๆ
การวางแผนในการฝึกประจำปีได้วางโครงการณ์ไว้ว่าใน 1 ปี จะทำอะไรบ้าง แล้วแบ่งเนื้อหา ระยะเวลา และปฏิบัติตามแผนที่วางไว้งานก็จะประสบความสำเร็จได้ แต่คนที่ประสบความล้มเหลวคือคนที่ไม่ทำอะไรจริงจัง
โรงเรียนที่ 10 มีคณะทำงานในการที่จะวางแผนในการจัดแผนการฝึก และมีอาจารย์ที่เชิญมาช่วยในการสอนในบางโอกาส ในการดำเนินการของวงจะมีคณะทำงานในการดำเนินงาน หน้าที่ของคณะทำงานจะช่วยดูแลความเป็นอยู่ การแต่งกาย โดยเป็นทีมงานเฉพาะกิจ ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งเป็นครั้งคราวในการออกไปทำกิจกรรมภายนอกโรงเรียน แต่ระบบการสอนแล้วจะมีครูผู้สอนเพียงคนเดียวจึงต้องวางแผนทุกอย่างทั้งหมด
แนวคิดในการที่มีผู้สอนหลายคน ถ้าไปในทิศทางเดียวกันในด้านความคิด งานที่ทำก็จะบรรลุเป้าหมายได้ด้วยดี แต่ถ้าต่างคนต่างทำไปตามความปรารถนาของแต่ละบุคคล หรือแนวทางของแต่ละคน งานนั้นจะไม่มีทางสำเร็จได้ เพราะนักเรียนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าควรจะเชื่อหรือทำตามผู้สอนท่านใด การทำงานจึงต้องแยกแยะหน้าที่ ที่ตรงต่อความถนัดของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ
ทางโรงเรียนมีแผนในการฝึกซ้อมตลอดปี ช่วงที่ได้ผลในการฝึกซ้อม คือ ช่วงปิดภาคเรียน ระหว่างเดือนมีนาคม ถึง ต้นเดือนพฤษภาคม อีกช่วงหนึ่ง คือ ปิดภาคเรียนที่ 1 เดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ฝึกซ้อมแล้วได้ผลดีมาก เพราะนักเรียนไม่มีการเรียนในช่วงนี้ และไม่มีงานที่ได้รับมอบหมายจากครู อาจารย์ ประจำวิชาทำให้นักเรียนไม่ต้องห่วงในเรื่องการเรียน จึงเป็นผลให้การฝึกซ้อมกระทำได้อย่างเต็มที่
การซ้อมหลังโรงเรียนเลิกใช้เวลาวันละ 2 ชั่วโมง ระหว่างเวลา 15.00 - 17.00 น. วันเสาร์ ระหว่างเวลา 13.30 - 17.00 น.ช่วงปิดภาคเรียนซ้อมเต็มวัน
ก่อนเปิดภาคเรียนจะมีการเข้าค่ายประมาณครั้งละ 5 - 10 วัน ตามแต่งบประมาณจะเอื้ออำนวย โดยนำนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เข้าค่ายฝึกซ้อมรวมกับรุ่นพี่ ซึ่งจะใช้สถานที่ภายในโรงเรียน และในบางครั้งก็ไปร่วมเข้าค่ายฝึกซ้อมร่วมกับโรงเรียนอื่นๆที่เชิญให้เข้า ร่วมฝึกซ้อม ซึ่งจุดนี้จะสร้างความรักความผูกพันระหว่างกันได้เป็นอย่างดี
การแบ่งเวลาในการฝึกซ้อมแบ่งเป็นการซ้อมเดี่ยว เข้า Section รวมวง เวลาส่วนใหญ่ไม่ได้วางไว้ตายตัวจะมีการยืดหยุ่นตลอดเวลา คณะทำงานจะมีหัวหน้า Section ซึ่งเป็นนักเรียนรุ่นพี่เป็นผู้ควบคุมดูแล
โรงเรียนที่ 11 ไม่มีคณะทำงานที่เป็นคณะครูในโรงเรียนแต่จะมีคณะกรรมการของวง คือหัวหน้าวง รองหัวหน้าวง หัวหน้า Part หัวหน้า Section โดยมีการประชุมปรึกษาหารือในการทำงานมีการวางแผนงานที่จะทำในแต่ละปี ในส่วนของการวางแผนหลักได้ปรึกษากับอาจารย์ดนตรีคนเดิมซึ่งปัจจุบันไปรับ ตำแหน่งใหม่ในโรงเรียน รวมกับคณะศิษย์เก่าที่กำลังศึกษาทางด้านดนตรีอยู่ ได้ประชุมปรึกษาในการวางเป้าหมายเพื่อพัฒนาวงโยธวาทิตของโรงเรียน เมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้วจะนำเข้าที่ประชุมร่วมกับคณะทำงาน ให้ยึดรายละเอียดในการปฏิบัติว่าในแต่ละเดือนจะทำอะไรบ้าง โดยวางแผนเป็นรายเดือน เน้นการฝึกซ้อมไปที่นักเรียนใหม่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยมีการวางแผนการทำงานล่วงหน้า ได้วางเป้าหมายไว้ คือ ความพร้อมน่าจะมีเมื่อนักเรียนได้รับการฝึกไปแล้ว 4 เดือน คือตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน เพราะนักเรียนมีพื้นฐานมาบ้างแล้ว แต่การวางแผนก็มีอุปสรรคบ้างในเรื่องของระยะเวลา ในบางครั้งอาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง บางครั้งต้องเพิ่มระยะเวลาในการฝึกซ้อมให้ยาวออกไป เช่นตั้งเป้าการฝึกว่าต้องเดิน Marching ได้ ต้องเดิน Display ได้ บางครั้งต้องเลื่อนเวลาออกไป เพราะเป็นการฝึกซ้อมที่ใช้เวลาไม่แน่นอน
การวางเนื้อหาจะกำหนดเป็น 2 ขั้นตอน คือนักเรียนที่ฝึกใหม่จะได้รับการฝึกในเนื้อหาพื้นฐานต่างๆ เช่นการฝึกและควบคุมการหายใจ การฝึกพื้นฐานทางจังหวะ การเรียนรู้ทฤษฎีโน้ต และทักษะด้านต่างๆในทุกๆด้านที่นักเรียนควรทราบ อีกส่วนหนึ่งคือนักเรียนที่เป็นแล้วจะฝึกซ้อมทางด้านการพัฒนาความสามารถ ฝึกแบบฝึกหัด ฝึกบทเพลงต่างๆ
การทำแผนการฝึก จะทำครั้งละ 4 เดือน เมื่อครบ 4 เดือนจะทำแผนการฝึกใหม่ เป็นอย่างนี้ตลอด
การกำหนดตารางฝึก ประชุมเดือนละครั้งเพื่อกำหนดทิศทางของวง รูปแบบการซ้อม แต่จะระบุตายตัวลงไปไม่ได้ เพราะบางครั้งฤดูกาลก็เป็นปัญหาต่อการฝึก เช่น หน้าหนาวมืดไว การฝึก
ซ้อมก็ต้องเลิกเร็วกว่าปกติ หน้าร้อนมืดช้าก็ฝึกซ้อมได้มากขึ้น แต่ภายใน 1 เดือน ได้เรียกหัวหน้าวง หัวหน้า Part หัวหน้า Section มาประชุมครั้งหนึ่ง เพื่อกำหนดรูปแบบการฝึกซ้อม จะซ้อมหลังเลิกเรียนใช้เวลา 2 ชั่วโมง ระหว่างเวลา 16.00 - 18.00 น. กลางวันไม่มีการฝึกซ้อม
วันหยุดส่วนใหญ่งดซ้อม เพราะว่าคุณภาพของวงนั้นได้พยายามรักษาไว้อย่างคงที่ และมีเวลามากพอแล้วในการฝึกประจำวัน แต่ในบางครั้งหัวหน้าวงอยากที่จะซ้อมบ้างในวันหยุด ครูผู้สอนต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับนักเรียนให้ทราบเหตุผล ว่าทำไมจึงไม่มีนโยบายในการซ้อมในวันหยุด เช่น ไม่มีความจำเป็นในด้านการใช้งาน และเป็นการประหยัด บางทีความตั้งใจของนักเรียนมีมาก แต่ถ้าเกิดเหตุที่เป็นผลมาจากการมาซ้อมดนตรีนักเรียนจะได้ไม่เสียใจภายหลัง ครูผู้สอนต้องปรามไว้บ้าง แต่ถ้ามีงานเร่งด่วนจริงๆจึงจะซ้อมในวันหยุดบ้าง
การเข้าค่ายฝึกซ้อมเพื่อติวเข้มจะทำทุกๆครั้งที่ปิดภาคเรียน โดยใช้ระบบไปกลับ ไม่มีการพักค้างที่โรงเรียน เพราะระยะเวลาในการเข้าค่ายสั้น ตารางการฝึกซ้อมจะเต็มรูปแบบ ที่มีระยะเวลาในการฝึกซ้อมระหว่างเวลา 08.00 น. - 17.00 น.
5.4 การกำหนดตารางฝึก
การกำหนดตารางฝึกของโรงเรียนที่ศึกษา จำนวน 11 โรงเรียน มีการกำหนดไปในทิศทางเดียวกัน มีรูปแบบการฝึกที่คล้ายคลึงกัน ที่แตกต่างกันบ้างคือเรื่องเวลาที่ใช้ฝึกเท่านั้น ซึ่งได้กล่าวมาในเบื้องต้นแล้ว จึงไม่นำมาเสนอในที่นี้
5.5 ปัญหาและอุปสรรค
การทำงานใดๆมีทั้งประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวแปรที่สำคัญคือปัญหา ปัญหาย่อมเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อที่มีการทำงาน จากการศึกษาในเรื่องของการเตรียมการกำหนดแผนการฝึกได้พบปัญหาทั้งที่สามารถ แก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้ โดยสรุปเป็นภาพรวมได้คือ
5.5.1 ไม่สามารถปฏิบัติได้ครบถ้วนตามตารางที่กำหนดได้ เช่นนักเรียนแปรขบวนได้
จริงแต่ยังเป่าไม่ค่อยได้หรือนับห้องเพลงยังไม่ถูกต้อง ส่วนนี้คือปัญหาปลีกย่อย ถ้ามองในภาพรวมแล้วอาจใช้ได้ตามเป้าหมาย แต่ถ้ามองในจุดใดจุดหนึ่งจะพบปัญหาทันที
5.5.2 การกำหนดเนื้อหา ไม่เหมาะสมกับเวลาที่มีในการฝึกซ้อม บางครั้งเนื้อหาที่
นักเรียนฝึกซ้อมมีความยาก แต่เวลาที่กำหนดไม่สามารถให้เวลามากๆได้ เพราะมีเวลาจำกัดจึงเกิดปัญหาตามมา คือ การฝึกซ้อมไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
5.5.3 การกำหนดตายตัวเป็นปฏิทินปฏิบัติงานไม่สามารถทำได้ การสอนต้องเลื่อนไหลตามเหตุการณ์ การกำหนดว่าต้องรวมวงวันนั้นวันนี้ไม่สามารถทำได้ และอีกอย่างนักเรียนจะเกิดความเบื่อหน่ายถ้าทำอะไรซ้ำซาก จำเจ
5.5.4 เวลาที่กำหนดไว้ทำได้ไม่ตรงกับที่กำหนด ต้องยืดหยุ่นตามความเหมาะสม และประเภทของงานที่รับเข้ามา
5.5.5 มีงานเร่งด่วนเข้ามา ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องซ้อมความพร้อม จึงต้องแทรกตารางการฝึกซ้อมที่วางไว้แล้ว ทำให้ตารางการฝึกซ้อมเกิดความคลาดเคลื่อน
5.5.6 ปัญหาจากการที่ไม่สามารถกำหนดตารางการฝึกซ้อมตายตัวได้ เพราะในขณะที่วางแผนการฝึกซ้อมไว้แล้วมักจะมีงานเข้ามาแทรกก็ต้องเอางานไว้ ก่อน ทำให้ไม่สามารถกำหนดอะไรเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวได้ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจแล้วก็กลับมาฝึกซ้อมต่อจากที่ฝึกซ้อมไว้ มีงานอีกก็หยุดอีก เสร็จงานก็กลับมาฝึกซ้อมต่อใหม่เป็นเช่นนี้เรื่อยไป แต่ต้องมีโครงการระยะยาวรองรับ การทำงานทำแล้วไม่ควรเครียดกับงาน ถึงแม้ว่าจะมีสิ่งต่างๆมาเป็นตัวแปรให้เป็นอย่างอื่น จึงต้องแก้ไขที่ตัวแปรก่อน แล้วกลับมาทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ต่อ ทุกสิ่งทุกอย่างคือปัญหา การทำงานคือการแก้ปัญหา ดังนั้นการช่วยกันทำงานเพื่อแก้ปัญหา ปัญหาต่างๆเกิดขึ้นได้ทุกที่แต่การแก้ปัญหาจะแก้ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ ปฏิบัติ
5.5.7 ปัญหาที่พบมากคือเวลาที่บันทึกถึงอาจารย์ผู้สอนในการนำนักเรียนไปแสดง ครูอาจารย์ ไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร ในบางครั้งไม่ยอมอนุญาตให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม สิ่งนี้ถือว่าเป็นผลกระทบอย่างมากต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งที่นักเรียนทำเพื่อชื่อเสียงของส่วนรวม
5.5.8 มีเพลงใหม่ที่ต้องฝึกซ้อมเพื่อไปบรรเลงในงานต่างๆที่รับเข้ามา บางครั้งจำเป็นต้องฝึกซ้อมในเวลาเรียน ปัญหาคือบุคลากรภายในโรงเรียนมักไม่เข้าใจในเหตุผลที่ต้องฝึกซ้อมในระยะเวลา ดังกล่าว และไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ
5.5.9 ครูผู้สอนไม่ได้ศึกษาปฏิทินการปฏิบัติงานของโรงเรียน เพื่อสร้างเป็นปฏิทินการฝึกซ้อมของวงโยธวาทิต ทำให้การกำหนดเนื้อหาสาระและเวลาคลาดเคลื่อนไป และบางครั้งงานไปซ้ำซ้อนกับปฏิทินการปฏิบัติงานของโรงเรียน
5.5.10 ปัญหาจากการที่นักเรียนไม่สามารถซ้อมได้ตามเวลาที่กำหนด มักอ้างภารกิจต่างๆที่ต้องปฏิบัติ ครูผู้สอนต้องเน้นให้นักเรียนทราบว่าเวลาของดนตรีก็คือเวลาของดนตรี จะไม่มีข้อแม้เพราะเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจแต่เบื้องต้นแล้ว ปัญหาต่างๆจะไม่เกิดขึ้น นักเรียนจะมีความเข้าใจ
ครูผู้สอนก็ไม่ต้องกังวลว่าวันนี้นักเรียนขาดซ้อมมากหรือน้อย ต้องทำความเข้าใจก่อนในเบื้องต้น บางคนที่ถูกผู้ปกครองบังคับ กรณีนี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็ให้ไปปฏิบัติภารกิจอย่างอื่นก่อนแล้วค่อยกลับมาซ้อมในภายหลัง ครูผู้สอนต้องพยายามแก้ปัญหาให้มีเหตุการณ์เช่นนี้น้อยที่สุด
5.5.11 นักเรียนมักมาสายกว่าที่กำหนดมาก การแก้ปัญหาในจุดนี้คือต้องตักเตือนบ้างเพื่อเป็นการทบทวนสิ่งที่กำหนดไว้ใน เบื้องต้นตามข้อตกลงที่มีมาแต่ต้น ถ้าใครมีปัญหาเร่งด่วนก็ไม่ว่าเพราะบางครั้งทุกคนมีปัญหาเฉพาะหน้า ครูผู้สอนต้องโอนอ่อนผ่อนตามในเรื่องนี้บ้าง ไม่ควรตึงหรือตรงเกินไป สิ่งที่ตามมาจะทำให้เกิดผลเสียหายมากขึ้น
5.5.12 นักเรียนที่มาเรียนดนตรีส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่เรียนอ่อน ทำให้สภาพการเรียนรู้เป็นไปอย่างช้าๆ
5.5.13 นักเรียนขาดความอดทนเมื่อมาพบระบบการฝึกที่หนัก บางครั้งนักเรียนลาออกก่อนกำหนดเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
5.5.14 ปัญหาผู้ปกครองส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า การเข้ามาเป็นนักดนตรีแล้วการเรียนจะไม่ดีครูผู้สอนต้องให้คำปรึกษา และทำความเข้าใจสภาพของความเป็นจริง นักเรียนที่เรียนเก่งไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จได้อย่างเดียว นักเรียนที่เรียนได้ระดับผลการเรียน 1.8 จะสรุปว่านักเรียนไม่ประสบความสำเร็จไม่ได้ นักเรียนที่เรียนอ่อนอาจประสบความสำเร็จอย่างอื่นก็ได้ นักเรียนวงโยธวาทิตสามารถสอบเข้าเรียนต่อในสาขาวิชาดีๆก็มีมาก ที่สำคัญเราต้องให้สิทธิกับนักเรียนที่เท่าเทียมกัน จะไม่แบ่งว่านักเรียนที่เรียนอ่อนฝึกซ้อมดนตรีไม่ได้ จะรับเฉพาะนักเรียนที่เรียนดีเท่านั้น ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด
5.5.15 นักเรียนมักขาดการฝึกซ้อมบ่อยๆ เพราะนักเรียนบางคนต้องเรียนพิเศษซึ่งตรงกับเวลาที่ฝึกซ้อมดนตรี ในบางครั้งกระทบกระเทือนต่อการฝึกซ้อมบ้าง
5.5.16 มีเวลาในการฝึกซ้อมจำกัด และยังต้องต่อสู้กับสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในโรงเรียน คือในโรงเรียนจะมีกิจกรรมหลายๆกิจกรรม ทุกกิจกรรมก็มีระยะเวลาในการปฏิบัติกิจกรรม บางครั้งมาใช้เวลาของการฝึกซ้อมดนตรีที่มีน้อยอยู่แล้วให้เหลือน้อยเข้าไป อีก ดังนั้นครูผู้สอนจึงต้องพิจารณาเวลาที่จะเสียไป และอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้กิจกรรมวงโยธวาทิตเป็นปึกแผ่นโดยมีระบบที่ดีรอง รับ เวลาที่ต้องเสียไปเพื่อกิจกรรมอื่นจะได้ไม่เสีย ถ้าครูผู้สอนมีเหตุผลเพียงพอใช้เป็นเครื่องต่อรอง
5.5.17 การเพิ่มเวลาในการฝึกสามารถกระทำได้ แต่ต้องดูว่าระยะการเดินทางและความคล่องตัวของนักเรียน ในปัจจุบันนี้ถ้าเลิกซ้อมเย็นมากเกิน เช่น 17.30 หรือ 18.00 การเดินทางกลับบ้านจะลำบากมาก ซึ่งเรื่องนี้ครูผู้สอนต้องพิจารณาด้วย แต่ถ้าใช้เวลาด้วยความสม่ำเสมอจะเกิดความคล่องตัวกว่า
5.5.18 การซ้อม Section เสียงรบกวนผู้อื่นอย่างมาก โดยเฉพาะโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมชน การซ้อมต้องซ้อมตามใต้ต้นไม้บ้าง ใต้ถุนตึกบ้าง เพราะไม่มีห้องฝึกซ้อมที่ได้มาตรฐานซึ่งสามารถเก็บเสียงได้
5.5.19 ครู อาจารย์ ในโรงเรียนมักมองนักเรียนที่เป็นนักดนตรีของโรงเรียนว่า เป็นผู้ที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่สนใจการเรียน และมักขาดเรียนบ่อย
5.5.20 สถานที่ฝึกไม่เหมาะสมกับการฝึกซ้อม ทำให้การฝึกซ้อมบางครั้งนักเรียนเกิดความเบื่อหน่าย เพราะสภาพไม่เหมาะสมที่จะเป็นที่สำหรับการฝึกซ้อมดนตรี
5.5.21 ปัญหาเกิดขึ้นได้เมื่อเกิดการไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะระบบพี่ระบบน้อง สิ่งดังกล่าวถ้าเกิดขึ้นจะเป็นผลเสียที่ร้ายแรง การแก้ไขปัญหาคือครูผู้สอนต้องทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวให้กระจ่างชัด ปัญหาที่จะเกิดก็ไม่เกิดเป็นการป้องกันล่วงหน้า กรณีที่เกิดก็คือรุ่นพี่ที่มีความสามารถด้อยกว่ารุ่นน้อง รุ่นน้องมักไม่ยอมรับเมื่อได้รับการเสนอแนะจากรุ่นพี่ เป็นต้น
5.5.22 การวางกฎเกณฑ์ตายตัวว่าช่วงใดจะทำอะไรบางครั้งกำหนดไม่ได้ ส่วนใหญ่จะมีการยืดหยุ่นตลอด ต้องมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าเราวางแผนไว้แล้วแต่อีก 2 อาทิตย์จะต้องบรรเลงเพลงที่ไม่อยู่ในแผน ถ้าแยก Section แล้วไม่ทันจึงต้องเรียนมาซ้อมรวมวงทั้งหมดโดยการอธิบายรวม
5.5.23 ระยะเวลาการเข้าค่ายถ้าใช้ตอนสอบเสร็จแล้วฝึกซ้อม 5 วันก่อนกลับบ้าน หรือ 10 วัน ซึ่งไม่ได้ผลเท่าที่ควร การเข้าค่ายฝึกซ้อมก่อนเปิดภาคเรียนจะได้ผลกว่า เพราะเมื่อออกจากค่ายก็ซ้อมตามปกติ แต่ถ้าซ้อมก่อนปิดนักเรียนจะทิ้งไปนานการซ้อมจะไม่ต่อเนื่อง ช่วงระยะที่ดีคือต้นเดือนพฤษภาคม และเดือนตุลาคม
5.5.24 การใช้วิทยากรพิเศษในการให้ความรู้ จะมีมาสอนเป็นประจำในแต่ละกลุ่มเครื่องมือ โดยส่วนใหญ่จะมาให้ความรู้ในระหว่างเข้าค่ายฝึกซ้อม ปัญหาที่หลายโรงเรียนพบคือหลังจากที่วิทยากรเหล่านั้นมาให้ความรู้แล้ว ถือเป็นการเสร็จภารกิจและไม่มีการติดตามผลในโรงเรียนเดิม คือ ปล่อยให้โรงเรียนเป็นผู้แก้ไขปัญหากันเอง ส่วนคณะวิทยากรพิเศษก็จะหาโรงเรียนใหม่ที่อยู่ในเป้าสายตาเข้าไปฝึกซ้อม โดยแต่ละครั้งโรงเรียนต้องเสียค่าตอบแทนอย่างสูง เมื่อเสร็จภารกิจก็หาโรงเรียนใหม่ต่อไป เหตุการณ์เช่นนี้ส่วนใหญ่เป็นการฝึกซ้อมเพื่อส่งเข้าประกวด
5.5.25 ปัญหาเกี่ยวการวางแผนการฝึกมีบ้าง เพราะแผนการฝึกวางไว้ประจำปีโดยใช้ตารางการปฏิบัติหน้าที่ของโรงเรียนมา พิจารณาว่าช่วงไหนที่จะต้องทำอะไรบ้างเพื่อเวลาวางแผนในเรื่องของดนตรี แล้วจะได้ไม่ซ้ำซ้อนหรือตรงกับการทำกิจกรรมของโรงเรียน แต่ตัวปัญหาที่แท้จริงหลังจากวางแผนงานแล้วงานพิเศษที่เข้ามา ทำให้มีผลกระทบอย่างมาก เช่นการที่ต้องฝึกเพลงที่นอกเหนือจากที่วางไปแล้วจะทำให้มีผลกระทบต่อแผนงาน ไปบ้าง อีกปัญหาคือนักเรียนทำไม่ได้ตามจุดประสงค์ที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งเป็นปัญหาปกติที่ต้องแก้ไขโดยตลอด
5.5.26 ปัญหาเมื่อมีการซ้อมแล้วครู อาจารย์ นัดสอบหรือนัดเรียนซ่อมเสริม ครูผู้สอนต้องทำความเข้าใจว่าว่าถ้าไปทำกิจกรรมดังกล่าวแล้ว จะต้องตามเพื่อนให้ทันเพื่อเป็นข้อตกลง และไม่ให้เกิดปัญหาตามมา
5.5.27 สภาพนักเรียนขาดซ้อมมีมากพอควร คือเวลาที่ไม่มีกิจกรรมการแสดง นักเรียนเหล่านี้มักไม่สนใจการฝึกซ้อม พอเริ่มมีกิจกรรมเข้ามานักเรียนเหล่านี้จะเข้ามาซ้อมตามปกติ ซึ่งนักเรียนเหล่านี้จะหายไปเฉยๆ ครูผู้สอนจะไม่ลงโทษโดยการเฆี่ยนตี แต่จะให้สังคมลงโทษกันเอง คือหัวหน้าวงจะเป็นคนจัดการ แต่ถ้ากรณีร้ายแรงจึงมีการเฆี่ยนบ้างเพราะนักเรียนเหล่านี้จะผ่านการตัก เตือนมาแล้ว การลงโทษอีกวิธีคือการงดที่จะให้สิ่งตอบแทนที่ควรจะให้ เช่นการคัดเลือกเข้าเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นต้น ถ้าขาดบ่อยจะไม่พิจารณาแต่นักเรียนมักจะรู้ตัวเมื่อถึงเวลานั้น เขาจะสำรวจตนเองว่าเกินเกณฑ์ที่กำหนดในหลักการของวงหรือยัง และจะปรับตัวเข้ามาเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว
5.5.28 การฝึกดนตรีในประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วจะกำหนดตายตัวเป็นตารางมาตรฐานนั้นไม่สามารถกระทำได้เพราะมี เงื่อนไขมากระทบหลายอย่าง โดยมีองค์ประกอบหลายๆอย่าง แต่ถ้าเป็นในต่างประเทศเขาจะกำหนดได้ตายตัว เปรียบเสมือนการทำงานของเครื่องจักรถึงเวลาที่จะทำการฝึกซ้อม เขาเริ่มเลยและสามารถสำรวจได้ทันทีว่า ถึงเวลาตามที่กำหนดแล้วนักเรียนจะต้องเกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่ได้วางเป้าหมาย ไว้ แต่หลายโรงเรียนในประเทศไทยทำไม่ได้เพราะปัจจัยหลายอย่างยังไม่ลงตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น