บทที่3

จากการศึกษากระบวนการของการจัดแผนการฝึกวงโยธวาทิตที่กล่าวข้างต้น จึงสรุปและจัดเป็นแผนการฝึกสำหรับวงโยธวาทิตได้ ดังนี้
การกำหนดตารางฝึก
การกำหนดตารางฝึกประจำวันหลังเวลาโรงเรียนเลิก
1. การประชุมตรวจความพร้อม หัวหน้ากลุ่มเครื่องรายงานความพร้อม ฟังคำชี้แจงจากครูผู้ควบคุมการฝึกซ้อม
2. การอบอุ่นร่างกาย (Warm - up Section)
2.1 คลายกล้ามเนื้อ 32 ครั้งตามเวลาที่กำหนด
2.2 กระโดดขึ้นลง 10 ครั้ง
2.3 งอเข่าข้างใดข้างหนึ่งสลับกัน 5 ครั้ง
2.4 ก้มลงใช้นิ้วแตะนิ้วเท้า 5 ครั้ง
3. การเตรียมความพร้อมทางดนตรี (Music Warm - up)
3.1 เป่าเสียงยาว (Long Tone) ตามแบบฝึกที่กำหนด โดยคำนึงถึงการควบคุมลมหายใจ ในการใช้เสียงหนักและเสียงเบา (แสดงออกถึงท่าทาง และเทคนิคการควบคุมลมหายใจอย่างถูกต้อง) ควรให้เสียงที่หนักแน่นอยู่ที่จุดศูนย์กลางของเสียง
3.2 การปรับเสียง
3.3 การร้อง โดยคำนึงถึงการควบคุมความ สูง ต่ำ ของระดับเสียงที่ร้อง การเพิ่มกำลังให้เสียงที่ออกมามีคุณภาพ และเทคนิคการพิจารณาแก้ไขสิ่งบกพร่อง และการจบประโยคที่สมบูรณ์
3.4 การซ้อม Section คือการแยกกลุ่มฝึกซ้อมย่อย ตามชนิดของเครื่องมือ
3.5 การซ้อม Part คือการแบ่งไปฝึกตามกลุ่มเครื่องในบทเพลงที่กำหนด
3.6 หัวหน้าหรือผู้นำวงเรียกสมาชิกพร้อมเพื่อบรรเลงรวม
3.7 ครูผู้สอนปรุงแก้ไขและให้ข้อเสนอแนะ
การกำหนดเวลาในการฝึกซ้อม (ใช้สำหรับการฝึก 2 ชั่วโมง)
การประชุมตรวจความพร้อม 10 นาที
การอบอุ่นร่างกาย (Warm - up Section) 5 นาที
การเตรียมพร้อมทางดนตรี (Music Warm - up) 20 นาที
การซ้อม Part 35 นาที
หัวหน้าหรือผู้นำวงเรียกสมาชิกพร้อมเพื่อบรรเลงรวม 5 นาที
ครูผู้สอนปรับปรุงแก้ไขและให้ข้อเสนอแนะ 20 นาที
มีช่วงเวลาพัก 10 นาที และทำความสะอาดเครื่อง 15 นาที
การฝึกซ้อมประจำสัปดาห์ กำหนดการฝึกเหมือนกับการฝึกซ้อมประจำวัน และเพิ่มการฝึกซ้อมในวันเสาร์ โดยการกำหนดตารางฝึกซ้อม ดังนี้
ตารางฝึกซ้อมวงโยธวาทิต
วันจันทร์ - วันศุกร์
เวลา 15.50 - 16.00 น. ประชุมตรวจความพร้อม
เวลา 16.00 - 16.05 น. การอบอุ่นร่างกาย (Warm - up Section)
เวลา 16.05 - 16.25 น. การเตรียมพร้อมทางดนตรี (Music Warm - up)
เวลา 16.25 - 16.35 น. พัก
เวลา 16.35 - 17.10 น. การซ้อม Part ยกเว้นวันอังคารซ้อม Marching วันศุกร์รวมวง
เวลา 17.10 - 17.15 น. หัวหน้าหรือผู้นำวงเรียกสมาชิกพร้อมเพื่อบรรเลงรวม
เวลา 17.15 - 17.35 น. ครูผู้สอนปรับปรุงแก้ไขและให้ข้อเสนอแนะ
เวลา 17.35 - 17.50 น. ทำความสะอาดเครื่อง ปิดห้อง ปล่อยกลับบ้าน
วันเสาร์
เวลา 08.50 - 09.00 น. ประชุมตรวจความพร้อม หัวหน้ากลุ่มเครื่องรายงานความพร้อม ฟังคำชี้แจงจากครูผู้สอน
เวลา 09.00 - 09.05 น. การอบอุ่นร่างกาย (Warm - up Section)
เวลา 09.05 - 09.50 น. การเตรียมพร้อมทางดนตรี (Music Warm - up)
เวลา 09.50 - 10.00 น. พัก
เวลา 10.00 - 11.30 น. การซ้อม Part
เวลา 11.30 - 12.00 น. ครูผู้สอนปรับปรุงแก้ไขและให้ข้อเสนอแนะ
เวลา 12.00 - 13.00 น. พักรับประทานอาหาร
เวลา 13.00 - 13.10 น. ประชุมตรวจความพร้อม
เวลา 13.10 - 14.40 น. ซ้อม Marching
เวลา 14.40 - 15.00 น. ครูผู้สอนปรับปรุงแก้ไขและให้ข้อเสนอแนะ
เวลา 15.00 - 16.00 น. ทำความสะอาดเครื่องประจำสัปดาห์ ปิดห้อง ปล่อยกลับบ้าน
แผนการฝึกวงโยธวาทิตตลอดปี มีเกณฑ์ที่ต้องพิจารณาและวางแผนการการฝึกซ้อม เพื่อให้การฝึกซ้อมเกิดประโยชน์สูงสุด จึงควรมีตารางฝึกที่แน่นอนและชัดเจน เพื่อสะดวกต่อการปฏิบัติทั้งครูผู้สอนและนักเรียน ดังนี้
(1) แผนการฝึกระหว่างเปิดภาคเรียน
(2) การงดการฝึกซ้อมก่อนการสอบ
(3) การกำหนดเวลาเริ่มฝึกซ้อมหลังการสอบ
(4) การกำหนดการฝึกซ้อมระหว่างปิดภาคเรียน
(5) การกำหนดเวลาการฝึกซ้อมพิเศษ ในกรณีเร่งด่วน หรือ เพื่อเตรียมการในโอกาสพิเศษต่างๆ
(6) กำหนดเวลาการเข้าค่ายฝึกซ้อมเพื่อติวเข้ม
แผนการฝึกวงโยธวาทิตตลอดปี กำหนดได้ดังนี้
ระหว่างเปิดภาคเรียน
ซ้อมสัปดาห์ละ 6 วัน หยุดวันอาทิตย์
จันทร์ - ศุกร์ ระหว่างเวลา 15.50 - 17.50 น. (วันละ 2 ชั่วโมง)
เสาร์ ระหว่างเวลา 08.50 - 16.00 น. (วันละ 6 ชั่วโมง 10 นาที พักกลางวัน 1 ชั่วโมง)
ระหว่างการสอบ
งดซ้อมก่อนสอบประมาณ 15 วัน เพื่อเตรียมตัวสอบ
งดซ้อมในระหว่างการสอบ
เริ่มซ้อมหลังสอบเสร็จ 1 สัปดาห์
ระหว่างปิดภาคเรียน
ซ้อมสัปดาห์ละ 6 วัน หยุดวันอาทิตย์
จันทร์ - เสาร์ เวลา 08.50 - 16.00 น. (วันละ 6 ชั่วโมง 10 นาที พักกลางวัน 1 ชั่วโมง)
การเข้าค่ายฝึกซ้อมเพื่อเพิ่มทักษะ (ติวเข้ม) โดยนักเรียนต้องมาทำการฝึกซ้อมตามระยะเวลาที่กำหนด อาจจะเป็นครั้งละ 1 สัปดาห์ หรือ 2 สัปดาห์ ตามแต่ทางโรงเรียนจะเห็นเหมาะสม ในการฝึกซ้อมแบบนี้ได้ผลดีในหลายๆด้าน เพราะมีเวลามากพอที่จะเน้นในสิ่งต่างๆที่เห็นว่าเหมาะสมและเป็นประโยชน์ ส่วนในเรื่องของเวลาและตารางฝึกจะเหมือนกับการฝึกแบบอื่นๆ มีเพิ่มมาคือในเวลากลางคืนจะใช้เวลา
นี้ในการฝึกทบทวน และจัดให้มีการเรียนการสอนวิชาสามัญที่นักเรียนยังไม่เข้าใจ โดยกำหนดตารางให้ครู อาจารย์ เป็นผู้รับผิดชอบ และในช่วงเช้าก่อนรับประทานอาหารนักดนตรีทุกคนต้องรับการฝึกพลศึกษาเพื่อฝึก ความแข็งแรงทางด้านร่างกายและมีเวลาในการฝึกทบทวนบทเพลงที่ยังไม่แม่นยำ เพราะมีความเชื่อว่าการฝึกในช่วงเวลานี้จะมีความจำได้ดีกว่า
(ธนาคาร แพทย์วงษ์, 2534: 74-75)
จากการศึกษาด้านการเตรียมการจัดแผนการฝึกอันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการ ฝึกวงโยธวาทิต ซึ่งถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมในการวางแผนที่ทำให้งานสำเร็จลุล่วงตาม เป้าหมายที่ตั้ไว้ เพื่อทราบทิศทางในการดำเนินการด้านการฝึก ขั้นตอนการฝึกที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ โดยโรงเรียนที่ศึกษาทั้ง 11 โรงเรียนมีแนวทางในการจัดแผนการฝึกที่มีทั้งเหมือนกัน คล้ายกัน และแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้การทำงานมีข้อแตกต่างเกิด ขึ้นดังนี้
5.2 การเตรียมการกำหนดแผนการฝึก
5.2.1 การประชุมเตรียมการ
การประชุมเตรียมการ จากการศึกษาโรงเรียนทั้ง 11 โรงเรียน มีลักษณะการปฏิบัติเกี่ยวกับการประชุมเตรียมการแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ มีการประชุมเตรียมการ และไม่มีการประชุมเตรียมการ
1) โรงเรียนที่มีการประชุมเตรียมการ จะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
(1) มีคณะครูผู้สอนจำนวนหลายท่าน เป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมอย่างมากโดยมีครูผู้สอนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป จะมีการวางแผนในการปฏิบัติงานก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 แผนการดำเนินงานจะเริ่มฝึกซ้อมประมาณสัปดาห์ที่ 4 ของภาคเรียนที่ 1 และการเตรียมการก่อนปิดภาคเรียนที่ 2 เป็นการวางแผนเตรียมการฝึกซ้อมระหว่างปิดเรียนปลายภาค เพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1
(2) มีครูผู้สอนท่านเดียวและมีคณะทำงานเป็นนักเรียนรุ่นพี่ ครูผู้สอนจะร่วมวางแผนกับคณะกรรมการของวง ซึ่งประกอบด้วย หัวหน้าวง รองหัวหน้าวง หัวหน้า Part หัวหน้า Section และหัวหน้าผู้รับผิดชอบในเรื่องต่างๆ และนอกจากนี้ยังมีนักเรียนรุ่นพี่ที่จบการศึกษาไปแล้วเข้าร่วมวางแผน โดยมีการประชุมปรึกษาหารือในการทำงานมีการวางแผนงานที่จะทำในแต่ละปี
2) โรงเรียนที่ไม่มีการประชุมเตรียมการ เป็นการวางแผนของครูผู้สอนเพียงท่านเดียวโดยการวางแผนการฝึกซ้อมและให้นัก เรียนปฏิบัติตามที่กำหนดไว้เป็นแผน ซึ่งมีทั้งแผนระยะสั้นเป็นแผนที่วางไว้ 1 เดือน แผนระยะกลางเป็นแผนที่วางไว้ 1 ภาคเรียน และแผนระยะยาวเป็นแผนที่วางไว้ 1 ปี
จากแนวทางในการประชุมเตรียมการทั้ง 11 โรงเรียนได้ปฏิบัติถึงแม้ว่าวิธีการในการทำงานแตกต่างกัน แต่ความสำเร็จนั้นพบว่าการทำงานใดๆ ถ้ามีการเตรียมการแล้วงานนั้นๆย่อมดำเนินไปได้ด้วยดีและประสบความสำเร็จ ครูผู้สอนต้องคำนึงเสมอว่าการทำงานให้ประสบความสำเร็จได้ต้องมีการวางแผน แล้วปฏิบัติตามแผนที่เตรียมไว้ งานนั้นจะบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ ถ้าไม่มีการวางแผนการทำงานแล้ว จะไม่ทราบทิศทางว่าควรดำเนินการอย่างไร อย่างน้อยควรทำแผนให้เป็นรูปธรรม วางกฎเกณฑ์ให้นักเรียนได้ทราบแนวทาง นักเรียนจะปฏิบัติไปตามแนวทางที่ครูผู้สอนกำหนดไว้ ฉะนั้นการประชุมเตรียมการถือเป็นขั้นต้นก่อนที่จะมีการปฏิบัติจริง โรงเรียนใดที่มีการเตรียมการดี มีเป้าหมายที่แน่นอน และยึดแนวทางปฏิบัติไปตามแผนที่วางเป้าหมายไว้โรงเรียนนั้นก็จะสามารถประสบ ความสำเร็จได้ แต่ถ้าโรงเรียนใดที่ไม่ได้กำหนดอะไรไว้เลยนึกจะทำจุดไหนก็ทำ โดยไม่มีขั้นตอนการดำเนินงาน หรือมีความสามารถในด้านหนึ่งด้านใดก็จะเน้นแต่ในด้านที่ตนเองมีความถนัด มากกว่าในส่วนอื่นๆ การพัฒนาการของนักเรียนแต่ละคนจะไม่พัฒนาไปพร้อมกัน ซึ่งจะเป็นปัญหาตามมา วงโยธวาทิตจะประสบความสำเร็จได้ต้องพัฒนาไปพร้อมๆกันในทุกๆด้าน
3.2.2 การกำหนดเนื้อหาและให้สัดส่วนความสำคัญ ทั้ง 11 โรงเรียนที่ศึกษามีแนวทางในการดำเนินงานที่มีลักษณะคล้ายกัน บางโรงเรียนมีความแตกต่างกันบ้างขึ้นอยู่กับสภาพความพร้อมของแต่ละโรงเรียน และการวางเป้าหมายที่แตกต่างกันของครูผู้สอน คือ
1) แนวการดำเนินงานที่มีลักษณะคล้ายกัน เป็นลักษณะการจัดได้หลายวิธีตามโอกาสและเวลาที่มีให้ เช่น
(1) การวางเกณฑ์ในการปฏิบัติว่าในแต่ละเดือนจะทำอะไรบ้าง โดยการวางแผนในการกำหนดเนื้อหา 1 เดือน 1 ภาคเรียน และ 1 ปี เน้นการฝึกไปที่นักเรียนใหม่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยมีการวางแผนการทำงานล่วงหน้าโดยวางเป้าหมายไว้ว่า ความพร้อมจะเกิดขึ้นเมื่อนักเรียนได้ฝึกไปแล้ว 4 เดือน คือตั้งแต่เดือน
สิงหาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน เพราะนักเรียนมีพื้นฐานมาบ้างแล้ว ในการวางแผนมีอุปสรรคบ้างในเรื่องของระยะเวลา บางครั้งเวลาอาจคลาดเคลื่อนไปบ้าง บางครั้งต้องเพิ่มระยะเวลาในการฝึกให้มากขึ้น เช่นวางเป้าหมายในการฝึกซ้อมว่าต้องบรรเลงภาคสนาม (Marching Band) ได้ ต้องเดินในรูปแบบของการแสดง (Display) ได้ บางครั้งต้องเลื่อนเวลาออกไปเพราะเป็นการฝึกซ้อมที่ใช้ระยะเวลาไม่แน่นอน
(2) การวางเนื้อหาจะกำหนดเป็น 2 ขั้นตอน คือ นักเรียนฝึกใหม่จะได้รับการฝึกในเนื้อหาพื้นฐานต่างๆ เช่นการฝึกและควบคุมการหายใจ การฝึกพื้นฐานทางจังหวะ การเรียนรู้ทฤษฎีโน้ตสากล และทักษะด้านต่างๆที่ควรทราบ อีกส่วนหนึ่งคือนักเรียนที่เป็นแล้วจะฝึกทางด้านการพัฒนาความสามารถ ฝึกแบบฝึกหัด ฝึกบทเพลงต่างๆ
(3) การทำแผนการฝึกครั้งละ 4 เดือน เมื่อครบ 4 เดือน จะทำแผนการฝึกใหม่ เป็นอย่างนี้เรื่อยไป ประกอบด้วยพื้นฐานเบื้องต้นใช้ระยะเวลาประมาณ 2 - 3 เดือน หลังจากนั้นจะแบ่ง Section ให้นักเรียนได้ฝึกตามกระบวนการ โดยมีกลุ่มครูผู้สอนร่วมกับนักเรียนรุ่นพี่ที่มีความสามารถฝึกรุ่นน้องได้ แบ่งให้รับผิดชอบในแต่ละ Section มีหัวหน้า Section เป็นผู้ควบคุมการฝึกซ้อมตามเนื้อหาที่ครูผู้สอนกำหนด หลังจากที่ได้ฝึกแยกแต่ละ Section แล้วจะรวมเป็น Part ในส่วนนี้นักเรียนรุ่นพี่จะช่วยได้อย่างมาก ครูผู้สอนต้องเตรียมการวางแผนแล้วเรียกหัวหน้า Part มาสั่งการว่าจะทำอะไร เมื่อใด การทำงานจะไปในทิศทางเดียวกันหมดตามข้อตกลงที่วางไว้นอกจากนั้นยังจัดให้มี หัวหน้าแผนกรับผิดชอบในส่วนต่างๆ การกำหนดแผนการฝึก ได้มีการวาง แผนร่วมกันว่าจะทำจุดไหนอย่างไร โดยมีการปรึกษาหารือกันตลอดเวลา และมีตารางแจ้งให้ทุกคนทราบว่าวันเวลาใดจะทำกิจกรรมอะไร หรือวันใดจะฝึกอะไรบ้าง เพื่อให้นักเรียนได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง
2) แนวดำเนินการที่มีความแตกต่างกัน เป็นแผนการฝึกที่เน้นให้นักเรียนได้ศึกษาเรื่องราวที่ฝึกอย่างละเอียด ตลอดจนแนวการบรรเลงต่างๆ เช่น แนวของการนั่งบรรเลง (Concert Band) หรือแนวของการบรรเลงดนตรีสนาม (Marching Band) นักเรียนต้องศึกษารูปแบบของการฝึกประเภทต่างๆให้เข้าใจ จึงสามารถฝึกซ้อมให้ประสบความสำเร็จได้ แผนการฝึกจะเป็นแบบเฉพาะเรื่อง การสอนจะสอนในเรื่องของเทคนิคการปฏิบัติเครื่องดนตรีเบื้องต้น เริ่มตั้งแต่การฝึกลม การจรดปาก ไปจนถึงเรื่องเทคนิคปฏิบัติชั้นสูง สิ่งที่เน้นคือการฝึกบันไดเสียง ในการฝึกบทเพลงจะต้องศึกษาประวัติของเพลงอย่างจริงจัง ศึกษาประวัติของผู้แต่ง และต้องมีความเข้าใจในจุดมุ่งหมายของผู้แต่งโดยละเอียด และที่สำคัญนักเรียนต้องมีความรู้ในแนวเพลงประเภทต่างๆว่า แนวเพลงที่ฝึกเป็นแนวเพลงประเภทใด ต้องศึกษาแนวเพลงนั้นๆให้เข้าใจอย่างละเอียด เช่น เป็นเพลงแนว Classic, Popular, Jazz, Rock เป็นต้น
การพิจารณาการกำหนดเนื้อหาสาระและให้สัดส่วนความสำคัญ เป็นเรื่องที่ควรดำเนินการ เพราะทั้งครูผู้สอนและนักเรียนจะมีแนวทางในการปฏิบัติที่ไปในทิศทางเดียวกัน การกำหนดเนื้อหาและการกำหนดระยะเวลาบางครั้งเมื่อกำหนดเป็นเกณฑ์การปฏิบัติ แล้ว ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามที่กำหนดไว้ จึงต้องใช้ลักษณะการยืดหยุ่นระยะเวลาตามสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ เป็นการแก้ปัญหา ทั้งนี้เพราะการเกิดปัญหาเนื่องมาจากสาเหตุที่สำคัญ คือ การมีงานเร่งด่วนเข้ามาแทรก ในฐานะผู้ปฏิบัติเมื่อมีคำสั่งก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง จึงทำให้ไม่สามารถกำหนดอะไรเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวได้ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจแล้วก็กลับมาซ้อมต่อจากที่ซ้อมไว้ เมื่อมีงานก็ต้องหยุดการฝึกซ้อมตามแผนอีก เสร็จงานก็กลับมาซ้อมต่อตามแผนเป็นเช่นนี้ตลอด แต่จะต้องมีโครงการระยะยาวรองรับ หรือมีวันที่สามารถเผื่อไว้ล่วงหน้า จะทำให้ปัญหาต่างๆหมดไปหรือมีปัญหาน้อยที่สุด
5.2.3 การจัดทำแผนการฝึก
การจัดทำแผนการฝึก เป็นกระบวนการในการวางแผนในการฝึกซ้อม ซึ่งถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อมในการวางแผนที่จะทำให้งานสำเร็จลุล่วงตาม เป้าหมายที่วางไว้ เพื่อให้ทราบทิศทางในการดำเนินงานด้านการฝึกซ้อม ขั้นตอนการฝึกซ้อมที่นำไปสู่ความสำเร็จ เป็นการวางแผนในการกำหนดวันเวลาในการฝึกซ้อม วิธีการฝึกซ้อม ซึ่งการฝึกวงโยธวาทิตในปัจจุบันมีการจัดแผนการฝึกเป็นหลายแนวทาง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ใช้ดำเนินงาน บางโรงเรียนมีเวลาฝึกซ้อมมาก บางโรงเรียนมีเวลาฝึกซ้อมน้อย ทำให้การจัดทำแผนการฝึกมีลักษณะที่แตกต่างกันบ้าง และที่สำคัญคือการให้สวัสดิการต่างๆกับนักเรียน ตลอดจนขวัญและกำลังใจที่จะได้รับ ดังนั้นองค์ประกอบที่ควรมีการพิจารณาการจัดทำแผนการฝึก คือ
1) การแต่งตั้งผู้รับผิดชอบ
2) การกำหนดการฝึกหลังเวลาโรงเรียนเลิก
3) การฝึกตามที่นัดหมายกับครูผู้สอนหรือวิทยากรพิเศษที่โรงเรียนเชิญมา
4) การฝึกในวันหยุดราชการ และระหว่างปิดภาคเรียน
5) การฝึกในวันเวลาที่มีการนัดหมายพิเศษ
6) การฝึกในเวลาที่นักเรียนไม่เสียเวลาเรียน
7) การฝึกที่ทุกคนพร้อมจะฝึก (ไม่ผิดเวลานัด)
8) การเข้าค่ายฝึกติวเข้ม
9) การจัดแผนการฝึกตลอดปี
10) การแผนการฝึกภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
11) การฝึกระเบียบวินัย
12) การตรวจเยี่ยมการฝึกซ้อม (ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง) เพื่อขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติ
13) การย้ายสถานที่ฝึกซ้อมในบางโอกาส
14) การสนับสนุนให้นักเรียนได้หาความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติม โดยการเข้าร่วมอบรมสัมมนากับสถาบันอื่น หรือทางโรงเรียนจัดให้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น